แนะนำโครงการและหลักสูตร

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล และ องค์กรเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยในประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้ตระหนักและมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงภัยธรรมชาติและภัยอื่น ๆ ในพื้นที่  เพื่อให้สามารถวางมาตรการที่เหมาะสม ตลอดจนวางแผนจัดการภัยพิบัติเมื่อเกิดสาธารณภัยในโรงเรียน ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ที่มีการจัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมอย่างเป็นระบบตามกรอบการดำเนินงานความปลอดภัยรอบด้านในโรงเรียน ค.ศ. 2022-2030  (Comprehensive School Safety Framework 2022-2030) และบูรณาการเข้ากับนโยบายความปลอดภัยของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนบริบททางนิเวศน์วิทยาเชิงสังคม วัฒนธรรมของประเทศไทย และให้มีการขับเคลื่อนด้วยแนวทางการสร้างผลกระทบโดยรวม (Collective Impact Approach) ผ่านกลไกคณะทำงานด้านความปลอดภัยในโรงเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงภัยในโรงเรียนตามมาตราฐานโรงเรียนปลอดภัยตามหลักสากล

ความเป็นมาของโครงการ  

จากความสำเร็จของโครงการโรงเรียนปลอดภัย โดย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 1 - 4 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 ระหว่างปี พ.ศ. 2562 - 2565 ในโรงเรียนนำร่องจำนวน 50 แห่งในจังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดความร่วมมือกันยกระดับมาตราฐานความปลอดภัยในโรงเรียน เช่น พัฒนาศักยภาพของคณะทำงานด้านความปลอดภัยในโรงเรียน ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการความเสี่ยงภัย และเกิดการพัฒนาหลักสูตรภัยพิบัติศึกษาในโรงเรียน จนนำไปสู่การขยายผลความสำเร็จไปสู่โครงการระดับชาติที่จะดำเนินการในระหว่าง พ.ศ.2565-2568 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการความปลอดภัยในโรงเรียน เตรียมความพร้อมในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะความเสี่ยงภัยธรรมชาติ ภัยจากอุบัติเหตุ และความเสี่ยงภัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา   

กลไกการดำเนินการของโครงการ

โครงการโรงเรียนปลอดภัยได้ดำเนินโครงการผ่านความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้วางแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรนี้อย่างมีส่วนร่วมจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการลดความเสี่ยงภัยพิบัติในสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบกลไกของคณะทำงานความปลอดภัยในโรงเรียน หรือ Safe School Working Group – SSWG ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานระดับจังหวัด  ระดับเขต  และระดับชาติ โดยกลไกนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการติดตามและกำกับมาตราฐานความปลอดภัยในโรงเรียน  คณะทำงานความปลอดภัยในโรงเรียน มีสมาชิกหลักคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยในโรงเรียน ได้แก่ ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับ ดูแล และติดตามโครงการทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ โดยมีเครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยและโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นภาคีความร่วมมือ